วันประถมศึกษาแห่งชาติ

24 พฤศจิกายน 2563, 15:29 น.

การศึกษามีความสำคัญอย่างมาก เป็นหนทางไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและก้าวหน้า มีคุณประโยชน์ทั้งต่อตนเองและประเทศชาติส่วนรวม ดังนั้นต้องจึงให้ความสำคัญต่อการศึกษาและพยายามส่งเสริมสนับสนุนเสมอมา แต่เดิมการศึกษาของไทยอาศัยบ้าน วัด วัง เป็นสถานศึกษา มาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ต่อมาพระบาทสมเด็จจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงริเริ่มวางรากฐานการประถมศึกษาของไทยขึ้น โดยได้จัดตั้งโรงเรียนแห่งแรกขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๔ และขยายการศึกษาต่อไปตามหัวเมืองต่างๆ
 
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ขึ้นเสวยราชสมบัติ พระองค์ได้ทรงรับภารกิจเกี่ยวกับการจัดการศึกษาสืบเนื่องจากพระราชบิดา ทรงยกฐานะโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสร้างในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงให้จัดสร้างโรงเรียนเพาะช่างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ ทรงจัดตั้งโรงเรียนเบญจมราชาลัยเพื่อฝึกหัดครูในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ ทรงตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นประถมในปี พ.ศ.๒๔๖๐ ทรงตั้งโรงเรียนพาณิชยการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕
 
ในปี พ.ศ.๒๔๖๑ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตราพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ขึ้น เพื่อบังคับให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และเพื่อให้เด็กทุกคนรู้หนังสือ จึงทรงตราพระราชบัญญัติประถมศึกษาออกบังคับเป็นเขตๆ ไปเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๔ ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับขึ้นครั้งแรก โดยบังคับโดยบังคับให้เด็กที่มีอายุ ๗ - ๑๔ ปีบริบูรณ์ เล่าเรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียนโดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน  นอกจากนี้ยังทรงตั้งโรงเรียนประชาบาลขึ้นตามท้องที่ในอำเภอ ตำบลต่างๆกัน โดยให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ดูแล
 
การประถมศึกษาของไทยได้เจริญรุดหน้าไปตามลำดับ ในปี พ.ศ.๒๕๐๙ ได้มีการโอนโรงเรียนประชาบาลนอกเขตเทศบาลทั้งหมดให้แก่องค์การ บริหารส่วนจังหวัด เพื่อให้สอดคล้องกับการกระจายอำนาจในท้องถิ่นมีบทบาทในการจัดการศึกษา และในปี พ.ศ.๒๕๒๓ มีพระราชบัญญัติโอนกิจการบริหารโรงเรียนประชาบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัดและโรงเรียนประถมศึกษากระทรวงศึกษาธิการไปสังกัดสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
 
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของทั้งสองพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว การศึกษาของไทยจึง
เจริญรุดหน้าทัดเทียมกับบรรดา นานาอารยประเทศโดยเฉพาะในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นพระองค์ โปรดให้มีการสร้างโรงเรียนขึ้นแทนการสร้างวัด จึงมีโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์หลายโรงเรียน เช่น โรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพฯ,โรงเรียนราชวิทยาลัย,โรงเรียนพระนครหลวง,โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ เป็นต้น
 
เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ กระทรวงศึกษาธิการจึงได้พิจารณาจัดงานวันประถมศึกษาแห่งชาติขึ้นในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายนของทุกปี โดยถือเอาวันคล้ายวันเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นวันประถมศึกษาแห่งชาติ (ปัจจุบันมีหลักฐานว่า สวรรคตในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน แต่ยังถือวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน เป็นวันประถมศึกษาแห่งชาติ)