วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2566

15 สิงหาคม 2566, 10:01 น.

ประวัติวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
ตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรีเป็นต้นมา ประเทศไทยได้เริ่มก้าวเข้าสู่ยุคแห่งวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ที่อาศัยการคิดคำนวณและหลักความรู้ตามหลักการวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เป็นต้น ด้วยพระอัจฉริยภาพด้านต่าง ๆ ของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระปรีชาสามารถในวิชาดาราศาสตร์ พระองค์ทรงคำนวณเวลา และสถานที่เกิดสุริยคราสหรือสุริยุปราคา ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่มาอยู่ระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ และเงาของดวงจันทร์ตกลงบนโลกพอดี ทำให้เรามองเห็นดวงอาทิตย์มืดเป็นบางส่วนหรือทั้งหมด
 
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคำนวณและพยากรณ์การเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงได้อย่างถูกต้องแม่นยำล่วงหน้าถึง 2 ปี ทั้งลักษณะของการเกิด เวลาที่เกิด และตำบลที่จะสังเกต กล่าวคือ วันอังคาร ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งตรงกับวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 และจะเห็นได้ชัดที่ตำบลหว้ากอ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญต่อวงการวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ และการศึกษาของไทย
 
คณะรัฐมนตรีได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ถวายพระนาม "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ผู้ทรงมีพระปรีชาสามารถในวิทยาการที่หลากหลาย รวมไปถึงพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ และได้มีมติกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา โดยที่ภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศร่วมกันจัดงานส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความสำคัญของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อการพัฒนาประเทศ
 

คำขวัญวันวิทยาศาสตร์ 2566 คือ "วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคม"