วันภาษาไทยแห่งชาติ

27 กรกฎาคม 2564, 23:57 น.

วันภาษาไทยแห่งชาติ 
ตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปทรงอภิปรายเรื่อง "ปัญหาการใช้คำไทย" ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
 
ที่มาและความสำคัญ
29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานและทรงอภิปรายเรื่อง "ปัญหาการใช้คำไทย" ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงแสดงความห่วงใยในภาษาไทย ทำให้ผู้ร่วมประชุมครั้งนั้นประทับใจ พระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า
 
 
"เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้...สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่าย ๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่า ๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก"
 
 
รัฐบาลได้ประกาศให้วันนี้เป็นวันสำคัญตั้งแต่ พ.ศ. 2542
 
 
วัตถุประสงค์
 
คณะรัฐมนตรีได้มีติเมื่อวันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 เห็นชอบให้วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 
 
1. เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์ และนักภาษาไทย รวมทั้งเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงแสดงความห่วงใย และพระราชทานแนวคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย
 
2. เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2542
 
3. เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป
 
4. เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการใช้ภาษาไทย ทั้งในวงวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเพื่อยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุกระดับให้สัมฤทธิผลยิ่งขึ้น
 
5. เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนทั่วประเทศมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อเผยแพร่ความรู้ภาษาไทยในรูปแบบต่าง ๆ ไปสู่สาธารณชนทั้งในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติ และในฐานะที่เป็นภาษาเพื่อการสื่อสารของทุกคนในชาติ
 
 
 
พระราชบิดาแห่งอักษรไทย
 
พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้เมื่อ พ.ศ. 1826 พระองค์ได้ทรงประดิษฐ์พยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ เพิ่มขึ้นให้สามารถเขียนแทนเสียงพูดของคำในภาษาไทยได้ทุกคำ กับทั้งได้นำสระและพยัญชนะมาอยู่ในบรรทัดเดียวกันโดยไม่ต้องใช้พยัญชนะซ้อนกัน ทำให้เขียนและอ่านหนังสือไทยได้สะดวกมากขึ้น
 
ทรงเป็นผู้เห็นการณ์ไกล
          แม้ว่าในขณะนั้นพ่อขุนรามคำแหงมหาราชจะทรงมีพระราชกรณียกิจใหญ่หลวงในการรวมไทยให้เป็นปึกแผ่นมั่นคงก็ตาม แต่พระองค์ก็มิได้ทรงทอดทิ้งในเรื่องของภาษาไทย หากจะพิจารณาอีกนัยหนึ่ง การที่พระองค์ทรงเป็นผู้ริเริ่มและจารึกเรื่องราวต่างๆ ลงหลักศิลาด้วยแบบอักษรไทยที่พระองค์ทรงคิดค้นปรับปรุงขึ้นเองนี้ นับว่าพระองค์ทรงเป็นผู้เห็นการณ์ไกลยิ่ง  กล่าวคือ 
 
เป็นการแสดงให้ชนชาติอื่นๆ เห็นว่าคนไทยนั้นมีความสามารถ มีแบบอักษรภาษาใช้เป็นของตนเอง มีวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง ดีงาม 
ทำให้ประเทศในละแวกใกล้เคียง นำเป็นแบบอย่างในการศึกษา ดังที่ได้พบศิลาจารึกหลักอื่นๆ ที่มีแบบอักษรดัดแปลงไปจากแบบอักษรไทยที่พระองค์ทรงคิดค้นขึ้น เมื่อแต่ละประเทศใกล้เคียงมีการใช้ภาษาที่คล้ายกัน จะเป็นประโยชน์ในด้านของการสื่อสารเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีได้ง่าย 
ชาวบ้านสามารถทำ หรือลอกเลียนเรื่องราวในหลักศิลาได้ไม่ยาก เพราะเพียงนำสีมาชโลมหลักศิลา และนำผ้ามาพันโดยรอบ ค่อยๆ กดลงไป ก็จะได้ลายที่เป็นเรื่องราวในหลักศิลา ที่สามารถพกพาหรือ นำไปเผยแพร่ต่อไปได้ง่าย 
ทำให้เกิด "การเอาเป็นเยี่ยงอย่าง" ในการจารึกเรื่องราวลงบนแผ่นศิลาของคนรุ่นต่อๆ มา  ทั้งนี้ สังเกตจากการพบศิลาจารึกอื่นๆ ที่มีลักษณะของการบันทึกในลักษณะคล้ายกับกิตติกรรมประกาศ เล่าเรื่องราวเหตุการณ์อันเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ผู้บันทึกประทับใจ หรือให้ความสนใจ อาจจะเนื่องในโอกาสการเฉลิมฉลองหรือการสดุดี เช่นจารึกหลักที่ ๔๕ ที่พบหลังวิหารสูง วัดมหาธาตุ มีเนื้อความโดยย่อเป็นเรื่องราวการทำสัตย์สาบานต่อกันของเจ้านายสุโขทัย เป็นต้น 
เพราะหลักศิลาสามารถคงสภาพอยู่ได้นานกว่าวัสดุประเภทอื่นที่คาดว่าจะใช้เขียนกันในขณะนั้น เช่น ใบลาน หรือสมุดข่อย หรือผ้า เป็นต้น   ความคงทนของหลักศิลาจะทำให้มีความได้เปรียบ ทำให้อนุชนรุ่นหลังได้รับทราบเรื่องราวในสมัยนั้น ได้นำมาเป็นแบบอย่างในการศึกษาเล่าเรียน 
 
 
 
 
ที่มา wikipedia
ภาพ : คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
https://www.egov.go.th/th/content/10301/232/
http://upic.me/show/50823826
http://upic.me/show/50823831
http://upic.me/show/50823817
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%9E%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%82%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B8%87#/media/%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%A5%E0%B9%8C:%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%9E%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%82%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B8%87_Ram_Khamhaeng_Inscription_01.png
https://th.pngtree.com/so/ลายไทย'>ลายไทย png จาก th.pngtree.com
https://th.pikbest.com">ฟรี  องค์ประกอบกราฟฟิก จาก th.pikbest.com
https://parentgenalpha.co/2020/11/05/%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%94%E0%B8%B5/
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%82%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A